blockchain คือ อะไร? ทำไมถึงเป็นเทคโนโลยีมาแรงสำหรับยุคนี้

blockchain คือ อะไร

เทคโนโลยี Blockchain คือ อะไร?  มีการถูกพูดถึงกันมานานตั้งแต่ปี 2008 จนมาถึงปัจจุบันเลย แต่เรื่องนี้น่าสนใจตรงที่ว่า คุณรู้หรือไม่ว่าทำไมคนพูดถึงอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะยังคงเป็นเทคโนโลยีที่มาแรงสำหรับยุคนี้ หลายคนมองว่ามันจะมาเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกเราเลยทีเดียว เวลาที่เราได้ยินคำนี้มักจะมีคำอื่นตามมาด้วย เช่น  บิทคอยน์ (Bitcoin) หรือสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ทั้งสองอย่างนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร  ใจความสำคัญของระบบ Blockchain นี้คือเทคโนโลยีอะไรกันแน่ คนยุคนี้จะเอาเทคโนโลยี Blockchain ไปทำอะไรต่อไปในอนาคต  แต่ก่อนที่เราจะนำเข้าเรื่อง วันนี้เราจะเล่าความเป็นมาสั้นๆ เบื้องต้นถึงที่มาที่ไปของเรื่องเงินๆทองๆที่ควรรู้กันซักนิด

ในปี 2008 อเมริกาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจาก วิกฤติซับไพม์ หรือ ในประเทศไทยเราได้ยินกันคุ้นหู ว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความซบเซาของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอเมริกา และหนี้สินของบริษัทและบุคคลที่สูงมากเกินไป เกิดภาวะฟองสบู่แตกในตลาดที่อยู่อาศัยในอเมริกา 

วิกฤติครั้งนี้ เผยให้เห็นความอ่อนแอในระบบการเงินของอเมริกาและส่งผลกระทบลามไปทั่วโลก  เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ทำให้อเมริกาตัดสินใจพิมพ์เงินจำนวนมากเข้าระบบใหม่ โดยไม่มีการรับประกัน เรียกว่าพิมพ์กันขึ้นมาลอยๆ อยากได้เท่าไหร่พี่ใหญ่พิมพ์ไปเท่านั้น เพื่อมายื้อชีวิตเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนทุกคนจะได้มีเงินไปจับจ่ายและชำระหนี้กันต่อไป แถมยังตั้งชื่อการพิมพ์เงินแบบเก๋ๆว่า QE (Quantitative Easing) เหตุการณ์นี้ทำให้คนทั้งโลกต้องช็อคไปตามๆกัน

เรามาศึกษาเรื่อง พิมพ์เงิน QE (Quantitative Easing) กันอีกนิดจากวีดีโอนี้ 

 

จากการที่อเมริกาพิมพ์เงินออกมาเองเป็นว่าเล่น แบบ QE (Quantitative Easing) นี้เอง ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของระบบการเงินที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลกลาง จนมีอัจฉริยะนิรนามที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto (ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครทราบว่าผู้สร้างบิทคอยน์นั้นตัวจริง ๆ เป็นใคร เนื่องจากเจ้าตัวไม่ยอมเปิดเผยตัวตน) ได้ทำการปฏิวัติโลกของเงินตราด้วยการนำเสนอเทคโนโลยี Blockchain และเงินสกุลดิจิทัลชนิดแรก ที่เรียกว่า บิทคอยน์ Bitcoin ที่เป็นกระแสในปัจจุบัน ขึ้นชื่อในเรื่องความปลอดภัยและความน่าเชื่อถืออย่างที่สุด และหลังจากบิทคอยน์ถูกวางระบบเรียบร้อยและทำงานได้อย่างถูกต้อง  Satoshi ก็วางมือและหายไปตั้งแต่ปี 2010 และจากการสร้าง Bitcoin ขึ้นมานี่เอง ทำให้ตัวเขาได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ แต่ตัวเขาเองกลับปฏิเสธการรับรางวัล จากตรงนั้นมาถึงตรงนี้เราขอวางเรื่องของ บิทคอยน์ Bitcoin ไว้ก่อน แล้วมาคุยในเรื่องของ Blockchain แทน

Blockchain ทำงานยังไง? โปร่งใสกว่าและปลอดภัยจริงหรือ?

ทีนี้เรามาเข้าใจกันก่อนว่าเทคโนโลยี  Blockchain คืออะไร ? ทำไม Satoshi Nakamoto ถึงได้พัฒนาขึ้นมาใช้เพื่อบอกว่าสิ่งนี้โปร่งใสกว่าและปลอดภัยกว่าที่เคยมีมา

ให้เราลองนึกภาพของเรากับธนาคาร ปกติแล้วหากเราต้องการจะทำธุรกรรมทางการเงินไม่ว่าจะฝาก ถอน หรือโอนเงิน เราต้องไปทำผ่านธนาคารเท่านั้น ตรงนี้เราเรียกว่า ความเป็นศูนย์กลางหรือระบบที่รวมทุกอย่างไว้ที่ตัวกลาง (Centralized) ธนาคารจะเป็นผู้รับเรื่อง บันทึก เก็บเงินแต่เพียงผู้เดียว ส่วนเราได้แค่สำเนาหรือสมุดบัญชีเก็บไว้เป็นหลักฐาน มีแค่เราและธนาคารที่รู้ข้อมูลการเดินบัญชี และหากเราต้องการโอน ก็จะมีการบันทึกการเดินบัญชีของเราและบัญชีของผู้รับโอน ตรงนี้อาจมีค่าใช้จ่ายเพราะบางครั้งธนาคารคิดค่าธรรมเนียมเราเพิ่มด้วย และข้อมูลตรงนี้มีแค่เราสามคนที่รู้เรื่อง (ผู้โอน,ธนาคาร และผู้รับ)

วิกฤติการถอนเงินที่ ไซปรัส
วิกฤติการถอนเงินที่ ไซปรัส ประชาชนไม่สามารถถอนเงินของพวกเขาออกมาได้

ในปี 2013 เกิดเหตุการณ์วิกฤติการเงิน ทำให้ธนาคารกลางประเทศไซปรัสได้บังคับใช้มาตรการห้ามชาวไซปรัสถอนเงินเกินกว่า 300 ยูโรต่อวัน และห้ามนำเงินมากกว่า 1,000 ยูโรออกนอกประเทศ  ตลอดถึงมีแผนการยึดเงินผู้ฝาก และบังคับให้ประชาชนไซปรัสถือเป็นหุ้นธนาคาร-ห้ามถอนเงินในบัญชี ชั่วคราว ทำให้เริ่มมีหลายคนเคลือบแคลงใจในธนาคารกลาง ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางหรือระบบที่รวมอำนาจทุกอย่างไว้ที่ตัวกลาง ว่ามีความปลอดภัยจริงหรือไม่?

แต่ เทคโนโลยี Blockchain เริ่มเข้ามามีบทบาท ถูกออกแบบมาให้เราสามารถส่งข้อมูลหากันหรือแม้กระทั่งส่งเงินหากันได้ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางใดๆ ทุกคนในระบบมีเอกสารข้อมูลการเดินบัญชีทั้งหมดแบบ Public พูดได้ว่าเราสามารถรู้และตรวจสอบได้หมดว่าบัญชีไหนมีเงินเท่าไหร่ ใครโอนให้ใคร รับต่อกันอย่างไร ข้อมูลจะถูกส่งต่อถึงกันและกันได้โดยอัตโนมัติ ตรงนี้เรียกว่า ระบบกระจาย (Decentralized) ซึ่งความชัดเจนของระบบนี้ได้เกิดความโปร่งใสเรื่องเงินๆทองๆให้โลกตะลึง ฉะนั้นถือว่าระบบนี้ขจัดการหมกเม็ดและสร้างความกระจ่างเป็นอย่างมาก เพราะทุกคนเห็นข้อมูลตั้งแต่ต้นยันปัจจุบันด้วยกัน แตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นของยุคเก่า ที่ความโปร่งใสในการทำธุรกรรมมาแบบขุ่นๆ เทาๆ สร้างความคลางแคลงใจแก่ผู้คนไม่น้อย

มาทำความเข้าใจ Blockchain คือ อะไร จากวีดีโอนี้ 

Bitcoin (บิทคอยน์) กับ Blockchain  เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

วกกลับมาที่เรื่อง บิทคอยน์ Bitcoin กันต่อ โดยปกติแล้ว เงิน คือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและทรัพยากรที่เราต้องการ ความน่าเชื่อถือของเงินในแต่ละสกุลขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลแต่ละประเทศ แต่จากประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจของโลกและเรื่องราวของการพิมพ์เงินออกมาเองแบบ QE ของอเมริกา ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามเกิดความสังสัยว่า เงินประเภทไหนที่ไม่ต้องมีรัฐบาลมาคอยค้ำ ไม่ต้องมีทองคำมาตัวเป็นประกัน มีน่าเชื่อถือได้ด้วยตัวมันเอง เงินประเภทไหนที่จะไม่มีวันเพิ่มจำนวนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วยวิธีการ QE เงินประเภทไหนที่จะมีคุณสมบัติหายาก ปลอมแปลงไม่ได้ และแบ่งเป็นชิ้นส่วนย่อยๆ ได้ แบบที่เราทำกับทองคำได้ จึงเป็นที่มาของนวัตกรรม Bitcoin เงินตราทางเลือกที่เป็นของมหาชน ดูแลโดยมหาชน ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นตัวกลาง มีความโปร่งใส ตรวจสอบธุรกรรมทั้งหมดได้ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นจริงได้ ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกชื่อว่า Blockchain นั่นเอง

Bitcoin คือ สกุลเงินแรกในรูปแบบของดิจิทัล ถูกสร้างขึ้นมาเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนในลักษณะเดียวกับทองคำ นั่นคือ มีจำนวนจำกัด หายาก ปลอมแปลงไม่ได้ โกงไม่ได้ หรือพูดอีกแง่ Bitcoin มีคุณสมบัติและคุณค่าไม่ต่างจากทองคำในอดีต ถูกสร้างขึ้นมาด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ Bitcoin ไม่มีรูปร่างและไม่สามารถจับต้องได้เหมือนธนบัตรหรือเหรียญเงินบาท Satoshi ได้โปรแกรมให้มีปริมาณ Bitcoin ที่จำกัด อยู่ในระบบเพียง 21 ล้าน Bitcoin เท่านั้น

จะเห็นได้ว่า Blockchain ไม่ใช่ Bitcoin และ Bitcoin ก็ไม่ใช่ Blockchain แต่โมเดล Bitcoin รันอยู่ในระบบของเทคโนโลยี Blockchain  เพื่อให้การซื้อขายสกุลเงินดิจิตอลนี้ มีความปลอดภัย เพราะว่า Blockchain ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องได้กับทุกอุตสาหกรรม ไม่เจาะจงเฉพาะ Bitcoin หรือ FinTech เพียงแต่เทคโนโลยีนี้เรียกได้ว่าส่งผลกระทบต่อวงการ FinTech ค่อนข้างเห็นได้ชัดเจน

Blockchain จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร?

ยกตัวอย่างที่เห็นชัดๆก็เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) ที่เป็นสกุลเงินดิจิตอล เนื่องด้วยบิทคอยน์ไม่มีเงินจริงๆให้เราจับต้องได้ ดังนั้นเวลาที่เราโอนเงินหากันจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับบิทคอยน์ เพราะการโอนเงินให้กันก็จำเป็นต้องมีระบบที่น่าไว้ใจได้

หรืออย่างธุรกิจ Startup จะต่างกับ SME ก็ตรงเรื่องการที่เราเอาเทคโนโลยีเข้าไปใส่ธุรกิจดังนั้นส่วนใหญ่ของ Startup มีแนวโน้มที่จะต้องมาใช้เทคโนโลยี Blockchain แน่นอน เพราะทุกอย่างบนโลกแทบจะถูกเปลี่ยนเป็นข้อมูลดิจิตอลได้เกือบทั้งหมด เพราะถ้าเราสแกน กระดาษลงไปให้คอมพิวเตอร์นั้นก็แปลว่าเราได้เปลี่ยนกระดาษเป็นข้อมูลดิจิตอลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และอีกเหุตผลหนึ่งที่ Blockchain ถูกให้ความสนใจมากขึ้นเพราะปัจจุบันประเด็นเรื่องความโปร่งใสของคนกลาง ก็เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามกันมากขึ้น ว่าทำไมเราถึงยอมให้ใครเพียงคนใดคนนึงเข้าถึงข้อมูลเราได้อย่างอิสระ จะดีกว่ามั้ยถ้าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่ส่วนตัวจริงๆ แล้วเราจะรู้ได้เฉพาะกับคนที่เราอนุญาตจริงๆเท่านั้น




Blockchain ข้อได้เปรียบ เสียเปรียบ?

การที่ Blockchain มีรูปแบบการทำงานแบบกระจายศูนย์ (Distributed), เกือบจะเป็น Real Time, ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการได้ และมีรูปแบบดิจิตอล ซึ่งทำให้เกิดข้อได้เปรียบ เสียเปรียบ ที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

ข้อดี ของ Blockchain

ข้อเสีย ของ Blockchain

·         สามารถลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ หรือในสถาบันการเงิน

·         สามารถจัดการต่อธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่จากศูนย์กลาง

·         มีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ

·         ไม่สามารถลบ หรือกลับไปแก้ไขรายการได้

·         สามารถตรวจสอบการทำธุรกรรมได้ และวิธีการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ

·         ลดความเสี่ยงจากการฉ้อโกง และการปลอมแปลงบัญชี

·         รับประกันได้ว่าข้อมูลถูกต้องเชื่อถือได้

·         มีการทำธุรกรรมและบันทึกผลได้แบบ real time

·         ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของงาน back office

·         ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมลดลง

·         นิยมใช้สำหรับการทำธุรกรรมที่มีจำนวนเงินน้อยๆ

·         สร้างโอกาสสำหรับผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ

·         ข้อมูลธุรกรรมในบัญชี distributed ledger จะต้องถูกเปิดเผยให้ทุกคนในวง Blockchain รู้

เนื่องจาก Blockchain ไม่มีตัวกลาง ดังนั้นระบบบัญชีจึงเป็นแบบกระจาย Distributed Ledger คือทุกคนในวงจะมีข้อมูลบัญชี Blockchain ที่เหมือนกัน หากใครมีการ update บัญชีก็ต้องแจ้งให้ทุกคนในวงทราบ

·         ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับและนำไปใช้แพร่หลาย สำหรับบุคคลทั่วไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อมูลเกือบจะทุกรูปแบบสามารถแปลงให้อยู่ในรูปข้อมูลดิจิตอลได้ Blockchain จึงสามารถใช้สำหรับกิจกรรมที่แตกต่าง และหลากหลาย เนื่องจากกิจกรรมแทบทุกประเภทของคนเราตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อถือและตรวจสอบได้ ดังนั้น Blockchain จึงสามารถรองรับการซื้อขายสินค้า บริการ หลักทรัพย์ สินเชื่อ ที่ดิน บ้าน ฯลฯ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น ง่ายกว่าเดิม และมีต้นทุนน้อยกว่าวิธีเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยอย่างมาก

Blockchain กฏหมายและการยอมรับ ?

ก่อนหน้านี้ในระยะเริ่มแรก หลายประเทศยังไม่ตอบรับและไม่มีกฏหมายรองรับเงินสกุลดิจิทัล (Cryptocurrency) เหล่านี้ เนื่องจากไม่สามารถระบุตัวตนของเจ้าของบัญชี ไม่มีคนควบคุม และเงินชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ในบัญชีเดียวอีกด้วย แต่ในช่วงระยะหลังเริ่มมีหลายๆประเทศออกมายอมรับเงินสกุลดิจิทัลกันมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เต็มตัวอยู่ดี ตราบใดก็ตามที่มนุษย์ยังให้ความเชื่อถือใน Cryptocurrency หวังว่าจะสามารถแลกเงินโลกเสมือนกลับมาเป็นสิ่งของหรือสินค้าได้ไม่ต่างจากการซื้อขายด้วยเงินจริงหรือทองคำ และที่สำคัญคือ Cryptocurrency นี้ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจแต่อย่างใด ไม่ว่าอเมริกาจะไปถล่มเกาหลีเหนือ ยุโรปจะแตก ญี่ปุ่นจะล้มละลาย รัสเซียกับอเมริกาจะเริ่มสงครามโลกกันใหม่ หรือจีนจะครองโลก ก็ไม่ได้มีปัจจัยเกี่ยวอะไรกับพื้นฐานของเงินชนิดนี้เลย ตัวมันเองยังคงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ แตกต่างจากเงินดอลล่าร์ เยน หยวน บาท หรือยูโร ที่นับวันจะผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลายปีที่ผ่านมาโดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุดนิ่ง

Blockchain กับประเทศไทย ไปกันได้มั้ย?

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าเทคโนโลยี Blockchain จะถือเป็นเรื่องใหม่แต่ด้วยนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ธุรกิจจึงต้องปรับตัวเข้ากับนวัตกรรมใหม่ ๆ ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เริ่มมีนโยบายนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้กับ Startup ทดสอบกระดานการลงทุนเฉพาะกลุ่ม เพื่อเป็นการทดสอบระบบแยกจากการซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามถือว่าการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับไทยและยังต้องศึกษาการพัฒนาการใช้เทคโนลียีนี้ต่อไปในอนาคต

กระแสของ Blockchain และตัวอย่างข่าวที่น่าสนใจ ที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคต

  • ส่วนภาคเอกชนไทย ธนาคารกสิกรไทย เริ่มมีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้แล้วเช่นกันแต่ยังไม่ได้เป็นการใช้ในการแลกเปลี่ยนธุรกรรมทางการเงินในระบบออนไลน์ แต่จะนำมาใช้กับการรับรองเอกสารหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบระบบ โดยโครงสร้างพื้นฐาน Blockchain ที่นำมาใช้ในครั้งนี้มีชื่อว่า “ไฮเปอร์เลจเจอร์” (Hyperiedger) ของบริษัท IBM ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อการประยุกต์ใช้สำหรับองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้สามารถทำงานในมาตรฐานเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว มีลักษณะพิเศษที่สามารถกำหนดสิทธิให้ใช้ได้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น (Private Blockchain)
  • ธนาคารกรุงศรีและไออาร์พีซี ประสบความสำเร็จในการโอนเงินระหว่างประเทศผ่าน นวัตกรรม Krungsri Blockchain’s Interledger แบบเรียลไทม์เป็นครั้งแรกของภาคธุรกิจไทย         ที่มา: Blognone (เผยแพร่วันที่ 28 กันยายน 2560)
  • IBM เผยใช้ Blockchain สำหรับทำสัญญาและโอนเงินข้ามประเทศ ตอบโจทย์ธุรกิจ B2B และ B2C โดยมีกสิกรไทยเข้าร่วมสัญญาและโอนเงินระหว่างกันได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย โดยใช้เทคโนโลยี IBM Blockchain เป็นพื้นฐาน ในการเปิดตัวครั้งนี้ IBM ได้จับมือกับ Stellar.org และ KlickEx Group เพื่อพัฒนาโซลูชันร่วมกัน เพื่อให้การทำสัญญาและการทำธุรกรรมนั้นเกิดขึ้นได้ภายใน Blockchain บน Cloud แบบเกือบ Real-time ปัจจุบันโซลูชันนี้รองรับสกุลเงิน 12 สกุลแล้ว ได้มีการร่วมมือกับธนาคารและสถาบันการเงินหลากหลายประเทศ  รวมถึงกสิกรไทยด้วย โดย World Bank ได้ออกมาวิเคราะห์ว่าเทคโนโลยีที่จะมาปรับปรุงธุรกรรมการจ่ายเงินให้ดีขึ้นในลักษณะนี้จะมีผู้ใช้งานจำนวนมากถึง 1,000 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2020 ก็ต้องติดตามดูกันต่อไปว่า IBM จะเข้าไปมีบทบาทในตลาดนี้ได้มากน้อยแค่ไหนในอนาคต      ที่มา: Techtalkthai (เผยแพร่วันที่ 16 ตุลาคม 2560)
  • Massachusetts Institute of Technology (MIT) เริ่มให้บริการ Digital Diploma ใช้ Blockchain ยืนยันการจบหลักสูตรและปริญญาบัตร    MIT ใช้ Blockchain ในการสร้าง Digital Diploma เพื่อใช้ยืนยันว่านักศึกษาได้เรียนจบหลักสูตรหรือได้ปริญญาบัตร และนำไปอ้างอิงได้ผ่าน Mobile Application บน Smartphone เพิ่มเติมจากเอกสารบนกระดาษแบบเดิมๆ  เพื่อให้นักศึกษาที่เรียนจบไปนั้นได้นำปริญญาบัตรของตนไปอ้างอิงได้อย่างง่ายดาย และทำให้การปลอมแปลงสวมรอยอ้างว่าเรียนจบจาก MIT เป็นไปได้ยากขึ้น   ที่มา: Techtalkthai (เผยแพร่วันที่ 27 ตุลาคม 2560)
  • เซอร์ไพรส์วงการ Blockchain เมื่อ Kodak และ LINE ประกาศเตรียมออกเงินดิจิทัลของตัวเอง  วงการเงินดิจิทัลและ Blockchain ยังฮอตไม่หยุด เมื่อบริษัทสาย Traditional อย่าง Kodak ขยับตัวครั้งใหญ่ เดินหน้าเตรียมเปิดตัวเงินดิจิทัลของตัวเองภายใต้ชื่อ KODAKCoin โดย Kodak กล่าวว่า KODAKCoin จะเป็นเงินดิจิทัลที่โฟกัสกับงานภาพถ่าย เพื่อสนับสนุนช่างภาพและ agency ในการควบคุมและจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ของภาพถ่ายให้รัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลของ Kodak จะเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ช่างภาพได้รับเงินแบบปลอดภัยมากขึ้น และช่วยปกป้องผลงานด้วย นอกเหนือจากการบันทึกลิขสิทธิ์ภาพ KODAKOne ยังให้บริการค้นหา ตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์ ที่อาจจะเกิดขึ้นบนเว็บต่างๆ ต่อด้วย และหากตรวจพบการละเมิด ระบบจะช่วยดำเนินการให้เพื่อให้ช่างภาพได้รับการตอบแทนตามที่สมควรได้รับ
  • ขณะที่แอปพลิเคชัน Messenger อย่าง Line ก็ประกาศจะออกเงินดิจิทัลเช่นกัน โดยมีข่าวว่ากำลังหารือพูดคุยกับ partner หลายราย เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่าเดิม นอกจากนัน Line เริ่มประสบปัญหาจากการเสียผู้ใช้บริการบางส่วนไปจาก 218 ล้านคน เหลือ 203 ล้านคนในเดือนตุลาคม 2017 ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ จึงมีความเป็นไปได้ว่า Line จะนำเงินดิจิทัลและระบบ Blockchain มาใช้สำหรับการให้รางวัลผู้ใช้ที่ใช้บริการแชทผ่าน Line messenger หรือใช้บริการ Line Pay  ที่มา: Techsauce (เผยแพร่วันที่ 11 มกราคม 2561)
  • IBM ตั้งบริษัทร่วมทุน Maersk พัฒนา Blockchian สำหรับอุตสาหกรรมขนส่งทางเรือ   IBM ประกาศความร่วมมือกับ Maersk บริษัทด้านขนส่งและเดินเรือรายใหญ่ของโลก ตั้งบริษัทร่วมทุน (joint venture) สำหรับนำ blockchain มาใช้กับเครือข่ายขนส่งทางเรือ บริษัทใหม่จะมีหน้าที่สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการค้าและการขนส่ง เป็นมาตรฐานเปิดที่ให้ทุกบริษัทในวงการชิปปิ้งสามารถใช้งานได้ เป้าหมายคือการลดต้นทุนและความซับซ้อนในการขนส่งสินค้าทางเรือ โดย IBM ระบุว่า blockchain เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะมากสำหรับโจทย์นี้ เพราะการขนส่งทางเรือมีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก กระจายกันอยู่ทั่วโลก การนำ blockchain มาสร้างฐานข้อมูลกลางสำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้น โดยแชร์ข้อมูลระหว่างกันแต่ไม่มีใครสามารถแก้ไขข้อมูลได้โดยลำพัง ย่อมจะช่วยให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น     ที่มา: Blognone (เผยแพร่วันที่ 17 มกราคม 2561)
  • สรรพากรประเทศจีนจับมือ Tencent เล็งใช้ Blockchain เพื่อป้องกันการหนีภาษี บริษัทด้านเทคโนโลยียักษใหญ่สัญชาติจีนนาม Tencent ได้จับมือกับหน่วยงานเก็บภาษีของเมืองเซินเจิ้นเพื่อที่จะนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในป้องกันการหนีภาษี โดยประกาศระบุว่า แล็บดังกล่าวจะนำการวิจัยเชิงทฤษฎีกับเทคโนโลยีที่เพึ่งกำเนิดขึ้นมาใหม่ เช่น Cloud Computing, Artificial intelligence (AI) , Blockchain และ Big Data มารวมกันเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการเก็บภาษีและ Invoice อิเล็กทรอนิกส์         ที่มา: siamblockchain.com (เผยแพร่วันที่  28 พฤษภาคม 2561)

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดคงเห็นแล้วว่าเทคโนโลยี Blockchain สามารถสร้างแรงกระเพื่อมครั้งยิ่งใหญ่ให้แก่ทุกวงการที่ต้องการความโปร่งใสของข้อมูล ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ทุกคนรับทราบการเผยแพร่ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูงขึ้น หากตั้งโจทย์การนำไปใช้ให้เหมาะสม เราจะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆต่อไปได้อีกมาก สำหรับผู้อ่านทั่วไปเองก็พอจะมองเห็นได้ว่า  Blockchain สามารถนำไปสร้างประโยชน์ให้แก่ทั้งองค์กร สังคม ไปจนสามารถยกระดับศักยภาพของประเทศได้ด้วย

***ฉะนั้นเราควรศึกษา สร้างการรับรู้ การเตรียมความพร้อม และการสร้างความเข้าใจในเทคโนโลยี Blockchain จะกลายเป็นข้อได้เปรียบของผู้ประกอบการในการคว้าโอกาสใหม่ ๆ เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการธุรกิจได้อย่างทันยุคสมัยและเกิดประโยชน์มากที่สุด



Credit: https://www.aware.co.th , https://goalbitcoin.com


บทความที่เกี่ยวข้อง

ขุดบิทคอยน์ คืออะไร ? คุ้มค่าไหมที่จะลงมือขุดเอง ?

เรื่องเล่าในวงการบิทคอยน์ ที่โด่งดังไปทั่วโลก

6 กลโกงการลงทุนบิทคอยน์ มือใหม่ทุกคนต้องระวัง!

คนรวยด้วยบิทคอยน์ มีสักกี่คน? มือใหม่อยากรวย ตามมาดูกัน